“สมัยเด็กๆ ผมมีความฝัน 3 อย่าง วันนี้ผมทำฝันสองอย่างแรกไปแล้วคือเป็นนักฟุตบอล และทำงานธนาคาร อีกหนึ่งที่เหลือคือใช้โอกาสทางการเมืองสร้างความฝันให้เด็กๆ คนอื่นได้เดินต่อ”
ธนิศร์ ทองสุข อดีตเด็กบ้านๆ จากสงขลา ที่ครั้งหนึ่งเคยไล่ล่าความฝันในเมืองกรุงด้วยสตั๊ดคู่เดียว วันนี้เขาคือเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ผู้อยู่เบื้องหลังความมุ่งมั่นของการแข่งขันฟุตบอล “สงขลาคัพ 2568” โดยมีเป้าหมายเดียว สร้างโอกาสให้เด็กๆ ต่างจังหวัดได้คว้าความฝันอย่างที่เขาเคยไล่ตาม ด้วยการส่งทีมแชมป์รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปีไปแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติ “กัปตันสึบาสะ คัพ” ที่ประเทศญี่ปุ่น
เส้นทางของเขาเริ่มต้นด้วยฝันสามข้อเรียบง่ายแบบเด็กชายคนหนึ่งที่โตมากลางทุ่งนา เป็นนักฟุตบอล, ทำงานธนาคาร และเข้าสู่การเมือง ซึ่งสองอย่างแรกเขาทำสำเร็จ และอย่างสุดท้ายกำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนชีวิตเด็กๆ รุ่นถัดไป
เขาเล่าถึงวัยเด็กที่เล่นบอลเท้าเปล่า ใช้คันนาเป็นสนาม ใช้ไม้ไผ่เป็นประตู ฝ่าฟันจากโรงเรียนท้องถิ่นเล็กๆ ในสงขลา จนกล้าเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ด้วยรถไฟชั้นสามเพื่อไล่ล่าความฝัน แม้จะไม่มีคนรู้จัก แม้ถูกดูถูกว่า “ไถ่วัวส่งควายเรียน” แต่เขายังเชื่อมั่นในตัวเองและไม่หยุดเดิน
จากการพเนจรหาสโมสรในกรุงเทพฯ จนสุดท้ายติดทีมโรงเรียนพณิชยการราชดำเนิน เขาได้สัมผัสทั้งรสชาติของการยอมแพ้ ความเกเร ความเจ็บปวดจากอาการบาดเจ็บ และการเปลี่ยนเส้นทางสู่งานธนาคาร ก่อนจะก้าวเข้าสู่โลกของการเมืองในวัยเพียง 32 ปี
“ผมเคยเป็นเด็กที่ต้องขอโอกาสจากคนอื่น... วันนี้ผมอยากเป็นผู้สร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้โดยไม่ต้องร้องขอ”
สร้าง “สงขลาคัพ” ให้เป็นเวทีเปลี่ยนชีวิต
ธนิศร์ยืนยันว่า “สงขลาคัพ” ไม่ใช่แค่ทัวร์นาเมนต์ฟุตบอล แต่มันคือ “ระบบ” ที่เขาและทีม อบจ. ภายใต้การนำของ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา วางไว้เพื่อสร้างนักกีฬาอาชีพจากท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในรุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงวัยทองของการพัฒนา
หนึ่งในไฮไลต์ปีนี้ คือ ทีมแชมป์รุ่น U12 จะได้สิทธิ์เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน “กัปตันสึบาสะคัพ” ฟุตบอลถ้วยที่มาจากการ์ตูนสร้างฝันของเยาวชนทั่วโลก ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นความฝันที่เด็กบ้านๆ ยุคก่อนแทบจะไม่กล้าจินตนาการ
“ผมจำได้ ตอนเด็กๆ ผมแย่งเบอร์ 10 กับเพื่อน เพราะอยากเป็น ‘สึบาสะ’ วันนี้เราสร้างโอกาสให้เด็กบ้านๆ ได้ไปเห็นโลกจริงๆ แล้ว”
เขาเล่าถึงวันที่ประกาศข่าวนี้ในสนามแข่งขัน เด็กๆ ตาวาว แววตาเต็มไปด้วยพลัง แม้แต่เด็กที่ตกรอบยังหลั่งน้ำตา เพราะพวกเขาทุ่มเทเต็มที่เมื่อรู้ว่าปลายทางคือญี่ปุ่น ผู้ปกครองเองก็อินไปด้วย เพราะรู้ว่านี่คือโอกาสทองที่อาจพลิกชีวิตลูกหลานได้
ฟุตบอล...มากกว่ากีฬา
จากมุมมองของนักบริหารท้องถิ่น ธนิศร์ เชื่อมั่นว่า การลงทุนด้านกีฬาคือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ แต่เป็นการสร้างวินัย แรงบันดาลใจ และเปิดประตูสู่อนาคตให้เด็กๆ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน
“สนามติณสูลานนท์” กลายเป็นปลายทางแห่งฝันของเด็กสงขลาในวันนี้—สนามแข่งขันนัดชิงของสงขลาคัพ ถูกวางไว้เป็นหมุดหมายว่า หากอยากก้าวไปให้ไกล ต้องฝันให้ถึงสนามแห่งนี้ให้ได้
“เราไม่ได้จัดแข่งเพื่อแก้ขัด แต่เพื่อสร้างเส้นทางชีวิต”
ในอนาคต อบจ.สงขลายังตั้งเป้าต่อยอดเป็น ฟุตบอลลีกของจังหวัด หรืออาจสร้างทีมอาชีพของสงขลาอีกหนึ่งทีมเพื่อให้เด็กในพื้นที่มีทางเลือกเพิ่มขึ้น โดยวางแผนให้สอดคล้องกับการคัดตัวเยาวชนไปแข่งขันกีฬาแห่งชาติ
จากอดีตเด็กบ้านนา...ถึงเยาวชนผู้มีความฝัน
หากย้อนกลับไปบอกตัวเองในวัยเด็ก ธนิศร์อยากจะบอกว่า “ฝันให้ไกล แล้วไปให้ถึง” และวันนี้เขายังอยากบอกเด็กๆ ทุกคนที่ฝันเหมือนเขาว่า:
“อย่าท้อ ฝันของเราอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มันมีทางโค้ง มีทางแยก แต่ถ้ามุ่งมั่น ตั้งใจ และไม่หยุดฝึกฝน สักวันจะไปถึงฝันแน่นอน”
ฝากถึงผู้ปกครอง โค้ช และคนสงขลา
ธนิศร์เชิญชวนทุกคนในจังหวัดให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเวทีเปลี่ยนชีวิตนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองที่สนับสนุนลูก โค้ชที่ฝึกฝนอย่างเข้าใจ หรือประชาชนที่มาเชียร์ในสนาม เพราะภาพเหล่านั้นคือแรงใจที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนฝันของเด็กๆ
“ท่านสุพิศมีเป้าหมายชัดเจนว่า สงขลาคัพ จะเป็นรากฐานสำคัญของ ‘สงขลา สปอร์ตซิตี้’ ซึ่งจะไม่หยุดแค่ทัวร์นาเมนต์ แต่จะกลายเป็นระบบสร้างนักกีฬาจากท้องถิ่นอย่างยั่งยืน”
สงขลาคัพ 2568 จึงไม่ใช่แค่การแข่งขันฟุตบอลธรรมดา...แต่มันคือเวทีแห่งความฝัน ที่เชื่อว่าเด็กๆ บ้านๆ คนหนึ่ง หากได้รับโอกาส เขาก็สามารถเปลี่ยนชีวิตได้ ไม่ต่างจาก "ธนิศร์ ทองสุข" ในวันนี้